Custom Search

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การขออภัยโทษ (Forgiveness)

เมื่อมีคนที่ทำผิดกฎหมาย และได้รับการลงโทษ ไม่ว่าจะได้รับโทษไปแล้วกี่มากน้อยเพียงใด หรือยังรอรับการลงโทษ ก็สามารถขออภัยโทษได้ทั้งสิ้น
หลักของการลงโทษมีดังนี้

1.ทำผิด แต่ไม่ถือว่าผิด
2.ทำผิด ถือว่าผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ
3.ทำผิด ถือว่าผิด แต่ได้รับการยกเว้นโทษ
4.ทำผิด ถือว่าผิด แต่ได้รับการลงโทษสถานเบา
5.ทำผิด ถือว่าผิด ได้รับโทษแล้ว แต่ได้รับการลดโทษ

การขออภัยโทษ สามารถทำได้ทุกกรณี 5 ข้อข้างต้น

รัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ ผู้ต้องโทษคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ประหารชีวิต สามารถยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ ดังนั้น ไม่ว่าโทษอื่นใด ที่ลดหลั่นลงมา จึงสามารถขออภัยโทษได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดจากคดีธรรมดา หรือคดีการเมืองก็ตาม เพราะโทษประหารชีวิตเป็นโทษสูงสุดที่มนุษย์พึงจะได้รับ จากการทำผิดทั้งผิดกฎหมายและหรือผิดศีลธรรม

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ เลย ที่จะมาอ้างเป็นเหตุยับยั้งการขออภัยโทษ ไม่ว่าบุคคลจะเป็นใคร หรือทำความผิดเช่นใดมาก็ตาม กระทำถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาตัดสิน และไม่เป็นการขัดต่อศาลใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากศาลทุกศาล อยู่ภายใต้การให้อำนาจของกษัตริย์ ให้ทำหน้าที่แทน ตัวแทนจึงไม่มีอำนาจสูงกว่าตัวจริง จึงไม่ใช่การทำลายระบบยุติธรรม และกฎหมายทุกฉบับในประเทศไทย รวมถึงทั่วโลก ต่างก็มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนยอมรับได้ คือ ข้อยกเว้น ว่า ไม่ผิด หรือผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือต้องโทษแต่ได้รับการงดเว้นการลงโทษ

การขออภัยโทษ ไม่ใช่ทุกกรณีที่ได้รับการอภัย ดังนั้น ขึ้นอยู่กับ ดุลพินิจในการพิจารณาองค์ประกอบความผิด สาเหตุ หลักการ และเหตุผล รวมกันหลายประการ จึงจะมีการอภัยโทษได้

สำหรับการนิรโทษกรรม (Amnesty) หมายถึง การยกเว้นไม่ต้องรับโทษ และถือเสมือนว่า ไม่เคยต้องโทษมาก่อนเลย ซึ่งแตกต่างจากขออภัยโทษ ที่มีบทลงโทษแล้ว จึงขอให้อภัยโทษที่มี 2 อย่างนี้ จึงแตกต่าง ไม่เหมือนกันในแง่ของกฎหมาย

ความรับผิดต่อผู้โดยสาร (Carriage Law)

เมื่อเราเดินทางโดยเครื่องบิน สายการบิน (Airline) นั้น ๆ มีหน้าที่ให้บริการ ดูแลผู้โดยสาร ตลอดจนรับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของผู้โดยสาร การที่เราเดินทางไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถยนต์ หรือรถไฟ เราเรียกว่า สัญญารับขน กล่าวคือ รับขนคนโดยสาร หรือทรัพย์สิ่งของ ได้แก่ พัสดุ ไปรษณียภัณฑ์ เป็นต้น โดยสายการบินได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าโดยสาร ผู้โดยสารได้ไปถึงที่หมายที่ตั้งใจไว้

เมื่อสายการบินตกลงรับขนผู้โดยสาร ย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบต่อชีวิต ร่างกายของผู้โดยสาร หากกัปตันเครื่องบิน นำเครื่องไปชนอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญารับขนคนโดยสาร เช่น กรณีสายการบินบางกอกแอร์เวย์ (Bangkok Airways) พุ่งชนหอคอยการบิน ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ สายการบินต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำขวัญ แก่ผู้โดยสารที่ได้รับอันตรายทุกคน นอกจากนี้ ยังอาจต้องรับผิดฐานละเมิดเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ เสียหาย ได้อีกทางหนึ่งด้วย แม้นว่าจะไม่มีข้อตกลงกันไว้ว่าต้องรับผิดชอบฐานละเมิด แต่ตามกฎหมายย่อมสามารถทำได้ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการชดเชยที่มากเพียงพอต่อสิ่งที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นชีวิต หรือบาดเจ็บตามร่างกาย

ดังนั้น สายการบินต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก และต้องรับผิดชอบสูง เพราะชีวิตคนนั้นสำคัญ มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด ประเมินค่าหรือราคาของคนไม่ได้ ทำได้เพียงชดเชย เยียวยาให้ได้ดีที่สุด สายการบินเองก็ต้องทำประกันภัย เช่น วินาศภัย ประกันชีวิตผู้โดยสาร ตามกฎระเบียบของการบินพลเรือนระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ผู้โดยสารที่ได้ทำประกันอุบัติเหตุ หรือประกันชีวิต ก็ยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยตามกรมธรรม์ประกันภัยของตนเองได้อีกต่างหากด้วย

กฎหมายฟอกเงิน (Money Laundry)

การฟอกเงินหมายถึง การได้เงินมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่นำไปผ่านกระบวนการเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะได้นำเงินมาใช้ได้อย่างถูกต้อง โดยมีที่มาจากหลายแหล่งได้แก่

1.การค้ายาเสพติด เช่น ได้เงินจากขายยาไอซ์
2.การค้าขายของเถื่อน ของหนีภาษี เช่น ขายไม้เถื่อน
3.การพนันที่ผิดกฎหมาย เช่น พนันบอล โต๊ะพนัน
4.การหลอกลวงสาธารณชน เช่น การเล่นแชร์ลูกโซ่ แชร์น้ำมัน
5.การปล้นทรัพย์ เช่น ปล้นทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น
6.การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หลอกให้โอนเงินทางATM
7.การค้ามนุษย์ เช่น หลอกลวงให้คนมาทำงานต่างประเทศ
8.การค้าประเวณี เช่น หลอกผู้หญิงไปขายตัว
9.การปั่นหุ้น เช่น สร้างราคาในตลาดหุ้นเพื่อขายราคาแพง
10.ผู้มีอิทธิพล เช่น แก็งค์มาเฟียรีดไถ เรียกค่าไถ่
11.การค้าอาวุธสงคราม เช่น ขายปืน ขายลูกระเบิด แก่กองกำลังติดอาวุธ

และอื่น ๆ ที่อยู่ในข่ายได้เงินมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เงินเหล่านี้ถือเป็นของกลาง ต้องถูกริบไว้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีความ ซึ่งมักจะมีความผิดตามกฎหมายอาญาด้วยเช่นกัน

วิธีการฟอกเงิน ก็คือ นำเงินที่ได้มาจากแหล่งต่าง ๆ ข้างต้นนี้ ไปฟอกให้สะอาด เช่น นำเงินไปซื้อ lottery ที่ถูกรางวัลที่ 1 เพื่อจะได้อ้างว่า ได้เงินมาจากการซื้อ lottery หรือนำเงินไปจัดตั้งบริษัท ห้างร้าน แล้วสร้างบัญชีตัวเลขให้มีกำไรมาก ๆ เพื่ออ้างว่า เงินที่ได้มาจากการลงทุนได้กำไร เป็นต้น

การฟอกเงินถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (Business Crime) จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจได้ด้วย เนื่องจากเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด นำมาหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจซึ่งเชื่อมโยงไปหลาย ๆ อุตสาหกรรม สร้างความปั่นป่วนให้กับสาธารณชนเป็นจำนวนมากได้ ทุก ๆ ประเทศจึงกำหนดให้มีกฎหมายฟอกเงินเพื่อร่วมมือกันทำลายแหล่งฟอกเงินทั้งหลายเหล่านี้ ผู้กระทำผิดก็มักจะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ซึ่งก็ยากแก่การป้องกันและปราบปราม บุคคลทั่วไปจึงควรร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกำจัดวงจรการฟอกเงิน มิฉะนั้น ผลร้ายอาจกระทบลุกลามมายังบุคคลทุกคนได้

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หลักกฎหมายย้อนหลัง

โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง เพราะว่ากฎหมายตราขึ้นมาเพื่อบังคับใช้กับคนในสังคม การที่จะห้ามทำอะไร หรือทำอะไรได้บ้าง ย่อมต้องบอกกล่าวกันก่อนหรือแจ้งให้ทราบ มิฉะนั้น จะไม่มีคนใดทราบเลยว่า สิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ ทำแล้วมีผลอะไรตามมา

หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง แฝงอยู่ในหลาย ๆ กฎหมาย แม้ว่าจะไม่เคยเขียนไว้ชัดเจนก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องแพ่งและพาณิชย์ ทำมาค้าขาย ยังไม่เคยส่งผลร้ายให้คนทำผิดข้อตกลง ต้องรับผิดถ้าทำอะไรไว้ แล้วมาตกลงเป็นข้อห้ามว่า ถ้าทำสิ่งนั้น แล้วจะต้องรับผิดชอบ ก็ยังไม่เคยเห็น ยิ่งถ้าเป็นเรื่องอาญา มีโทษจำคุกด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรย้อนหลังกันไปใหญ่

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประเภทไหน ก็ไม่ควรมีผลย้อนหลัง ให้คนรับผิดกับสิ่งที่ทำไว้โดยไม่ทราบว่าเป็นข้อห้ามในอนาคต ตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลดีต่อคนทำ อย่างนี้ให้ผลดี ก็ไม่มีใครว่าอะไร เรื่องดี ๆ ควรน่ายกย่องสรรเสริญ เรื่องไม่ดี ควรหาทางแก้ไข หรือป้องกัน ไม่ควรหาวิธีลงโทษสถานเดียว หรืออย่างน้อย ก็ควรให้โอกาสทำคุณงามความดีเพื่อไถ่โทษ แบบนี้ไม่ว่าคนที่เห็นด้วยหรือไม่ ก็ไม่มีข้อโต้แย้งอย่างแน่นอน

หลักกฎหมายสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หลักกฎหมายสิทธิเสรีภาพของประชาชน
โดยทั่วไป ประชาชนย่อมมีสิทธิ เสรีภาพ แสดงออกหรือทำอะไรก็ได้ภายใต้กฎหมายสูงสุดของประเทศนั้น ๆ เช่น การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมทั่วไป การเขียนบทความ การรับฟัง การพูดจาปราศัย การแสดงความไม่เห็นด้วย เป็นต้น เหล่านี้ ประชาชนทั่วไปย่อมสามารถทำได้ตราบเท่าที่ไม่ไปกระทบกระเทือนถึงคนอื่นให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม

กฎหมายที่อนุญาตให้ชุมนุมได้ แสดงออกถึงการให้เสรีภาพในการแสดงสิทธิทุกอย่างข้างต้น แต่ถ้าไปสร้างความทุกข์ร้อนกับคนทั่วไป สาธารณชน หรือคนกลุ่มใด คนที่เดือดร้อน ย่อมใช้สิทธิให้การชุมนุมระงับ หรือหยุดรบกวนได้เช่นกัน เช่น ชุมนุมแล้วก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง เกิดการจราจรติดขัดเกินกว่าธรรมดา เช่นนี้ คนที่เดือดร้อนย่อมต้องใช้สิทธิเพื่อยับยั้งได้ และถ้าชุมนุมแล้วเกิดการฝ่าฝืนกฎหมาย ตำรวจย่อมมีหน้าที่จับเปรียบเทียบปรับ หรือกักขัง แล้วแต่กรณี สามารถดำเนินการได้ทันทีเช่นกัน

การปล่อยให้สิทธิชุมนุม เหนือกว่าสิ่งใด ย่อมเป็นผลร้ายแก่สังคมส่วนรวม และอาจกลายเป็นธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติที่ไม่ดี และก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมาในอีกหลายด้าน และส่งผลให้กฎหมายใช้การไม่ได้ และอาจทำลายความน่าเชื่อถือตามกติกาของสังคมลง กว่าคนจะรู้สึกว่าชุมนุมแล้ว ผลร้ายมีมากมายหลายด้านก็คงไปกันใหญ่แล้ว

ฉะนั้น การชุมนุมหากเกิดผลร้ายด้านใดขึ้น ต้องดำเนินการยับยั้งทันที เพื่อให้เกิดระเบียบ ความสงบต่อสังคมส่วนรวม และเพื่อประเพณีอันดีงามของประชาชน และต้องสร้างสำนึกร่วมกันให้การชุมนุม คำนึงถึงผลต่อสังคมส่วนรวมด้วย

สัญญาประเภทต่าง ๆ

สัญญาต่าง ๆสัญญา หมายถึง ข้อตกลงของผู้เสนอ และผู้สนอง สอดคล้องต้องกันและอยากให้มีผลผูกพันร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกัน สัญญามีมากมายหลายแบบได้แก่

1.สัญญาซื้อขาย เช่น ซื้อขายที่ดิน ซื้อขายบ้าน ซื้อขายคอนโด ซื้อขายรถยนต์
2.สัญญารับเหมาก่อสร้าง เช่น รับสร้างบ้าน รับเหมาสร้างสะพานลอย รับเหมาถมที่ดิน
3.สัญญาให้ เช่น ให้เงิน ให้ทอง
4.สัญญายืม เช่น กู้เงิน ยืมรถไปใช้ ยืมข้าวของเครื่องใช้
5.สัญญาเช่า เช่น เช่าบ้าน เช่าซื้อรถยนต์
6.สัญญารับฝาก เช่น ฝากเงิน ฝากรถยนต์
7.อื่น ๆ เช่น สัญญาแฟรนไชส์ สัญญาตอบแทนกัน

และอื่น ๆ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างกัน หากสงสัยว่า เรามีเอกสารเป็นสัญญาประเภทใด ก็ส่ง email มาสอบถามได้ครับ

พื้นฐานทางกฎหมาย

พื้นฐานกฎหมายกฎหมาย หมายถึง ระเบียบที่ใช้บังคับกับคนในสังคม มีหลายรูปแบบ เรียกชื่อต่างกัน ความสำคัญต่างกัน ลำดับชั้นไม่เหมือนกัน พอจะจำแนกลำดับใหญ่เล็กได้ดังนี้

1.รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด สูงกว่านี้ไม่มีแล้ว นอกจากอำนาจอื่นที่ไม่อยู่ในระบบกฎหมาย2.พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา ปกติแล้วมีลำดับศักดิ์เท่ากันแต่มีที่มาต่างกัน
3.ประมวลกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา
4.กฎกระทรวง ทบวง กรม เช่น ประกาศกฎกระทรวง
5.คำวินิจฉัยของหน่วยงานรัฐ เช่น คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากร

นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกา คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น นำมาเทียบเคียงใช้เป็นบรรทัดฐานการใช้กฎหมายได้เช่นกัน ผู้อ่านท่านใดมีข้อสงสัย email สอบถามได้ครับ ไม่คิดค่าบริการ